โรงแรมอัลฟ่าวิลล์ : บทที่ 4 : บทสนทนาในบาร์แจซซ์

 

บ า ร์ แ จ ซ ซ์ ! ! !

สถานที่นั้นอหังการเรียกตนเองว่าบาร์แจซซ์ ทั้งที่ดนตรีในนั้นไม่ใกล้เคียงกับแจซซ์เลยสักนิด!

ช่างกล้าหาญชาญชัยอะไรปานนั้น เพราะสิ่งที่มีบนยกพื้น (ซึ่งถูกอนุโลมให้เรียกว่าเวที)  มีเพียงอิเลคโทนงอกง่อยเปล่งเสียงซีดเซียวเสแสร้งจะเป็นทั้งเสียงเปียโน กีตาร์แจซซ แซกโซโฟน และกลองชุดด้วยการกดเพียงครั้ง  จากหวะตายซากประจุมาจากโรงงานอาจนับไปมาได้สามสิบหกแบบ   โปรดเล่นและร้องตามจังหวะดังกล่าวไม่ว่าเพลงต้นฉบับจักพิสดารขนาดไหน  ชายผู้ควบคุมดนตรีน่าจะอายุเลยสี่สิบเล็กน้อย ท้วมอยู่ในสูท มอซอตามคำจำกัดความของนักดนตรีกลางคืน เส้นผมกลางกระหม่อมบางลงมากแล้ว ใบหน้าบวมพองซ่อนร่องรอยโบยตีของการทำซ้ำแห่งชีวิต  เขาขึ้นเวที ก้มหน้างุดๆอยู่กับอีเลคโทนแปร่งประหลาด เสียงสังเคราะห์ที่ดูดทุกความชื้นในห้วงอากาศออกไปคายเพียงความแห้งแล้งเล็กแหลมสากระคายทางลำโพง เทียบกับห้องอาหารของเมอร์ซิเออร์โกดาร์ด บาร์แจซซ์นี้ต่ำชั้นจนไม่อาจเชื่อได้ว่ามันคือสถานที่เดียวกันร่วมแชร์ทางออกประตูเดียวกันสู่ลอบบี้โรงแรมด้วยซ้ำ

ผมไม่ได้ขึ้นห้องทันทีหลังเสร็จมื้อาหาร  ยิ่งทำงานเร็วยิ่งดี นั่นคือข้ออ้างสำหรับผมในการเกร่ตรงไปบาร์  เหล้าฟรีลงชื่อเมอร์ซิเออร์โกดาร์ดหมายถึงการดื่มได้ไม่อั้น  แน่นอนมันย่อมต้องมีฉากบาร์ในบทภาพยนตร์ แต่ไม่ควรเป็นบาร์แห้งแล้งร้างผู้คนนี้  มันควรเป็นบาร์แจซซ์แบบนิวยอร์คยุคหกสิบ  ควันบุหรี่แลบะเสียงจนตรีร้อนเร่า ผมถึงขั้นจินตนการภาพ ฉากช่วงการโซโลไล่โน้ตของแซกโซโฟนกับน้อกร้องสาวผิวสีร่างใหญ่ 

ซ า ก ศ พ ข อ ง จิ น ต น ภ า พ แ ห่ ง ฮ อ ล ลี วู้  ด

ซากศพของจินตนภาพแห่งฮอลลีวู้ดฟุ้งกระจายในบทภาพยนตร์ฉบับฝันย่ำค่ำของผมผู้ซึ่งยินดีจะโอบกอดมันไว้มากกว่าเสนอภาพเป็นจริงของอีเลคโทน ชายอ้วน และ รสขมเฝื่อนจากเหล้าราคาถูกที่ชงผิดวิธี  วิสกี้ออนเดอะร๊อค น้ำแข็งใสสะท้อนไฟวอมแวมจากเคาน์เตอร์ นักร้องก้าวขึ้นบนเวทีบ้างแล้ว เราจะเรียกเธอว่า  

นี น่ า   ซี โ ม น !

อา ความคล้ายคลึงของหญิงคนนั้นบนเวทีกับนีน่า ซีโมน  อาจคือความเชื่อมโยงประการเดียวที่ทำให้บาร์เหล้านี่ใกล้เคียงกับบาร์แจซซ์  ร้างท่วม ผิวคล้ำเข้ม ปากหนา และตุ้มหูเพชรพราวพราย 

ทุด! นิตยา บุญสูงเนิน  วารุณี สุนทรีสวัสดิ์  พัชรา แวงวรรณ นักร้องสาวตกยุคจากสองทศวรรษที่ล่วงผ่าน ยังทิ้งร่องรอยไว้ตามบาร์เหล้าเก่าแก่ เพลงก๊อปปี้ซ้ำจากเพลงจีนสวมเนื้อหารักคนมีเจ้าของ ชอกช้ำระกำทรวง ถูกรีดเค้นปะปนเอากับชีวิตของพวกเธอเอง กลางเสียอีเลคโทน ความเศร้าสร้อยไม่ได้มาจากเนื้อหา แต่มาจากความรู้สึกกึ่งสมเพชต่อชีวิตตกยุคที่เราจินตนาการเอาเอง  นักร้องเลยวัย ดวงดาวหรุบหรู่อับแสง รักที่ชืดจาง จนต้องบ่พนพร่ำในเสียงเพลง

สิ้นเสียงเลียนวารุณี สุนทรีสวัสดิ์ เธอก็ขึ้นเพลงใหม่  ราวกับวิญญาณโบราณมาสิ่งสู่  กลางเสียอิเลคโทนแห้งโหย คุณป้าโหนเสียทุ้มต่ำแตกพร่า  เธฮก้าวล่วงเข้าสู่เขตแดนแห่งสุทนราภรณ์ นี่ใกล้เคียงเพลงแจซซ์ แต่เสียงของเธอใกล้เคียงกับคำ แจซซ์ อย่างลึกล้ำ รวงทอง ทองลั่นทมจะขึนเสียงแหลมสูงตามสไตล์นักร้องในสังกัดครูเอื้อ แต่คุณป้ากลับร้อง ‘วิมานสีชมพูด้วย’ คีย์ต่ำ    เพลงรักแหลมสูงพลิกลับหงายท้อง ราวห้องหบัดำมืดละลายกลายเป็นสีชมพูพาสเทล  เสียงของซีโมนในเพลงของรวงทอง  บรรยากาศพิลึกพิลั่นอวลระคนความเข้ากันไม่ได้ ของความสามัญแห้งตายซาก และความฉ่ำน้ำเนื้อของชีวิต

 “เธอเสียงดีนะว่าไหม   ผมไม่เคยฟังรวงทองที่ไพเราะขนาดนี้มาก่อน”  ชายคนนั้นปรากฎขึ้นข้างผม ร่างสูงฉายแววเคยสะโอดสะองในอดีต ตอนนี้หย่อนคล้อยไปบาง ผมสั้นเกรียนทรงลานบินทำให้สิ่งนั้นสะดุดตาอย่างถึงที่สุด  เขาคือชายวัยใกล้ชราที่มีหูเพียงข้างเดียว !

หู ที่ ห า ย

เขาให้ผมเรียกเขาว่าผู้หมวด  ผู้หมวดทรนง  อดีตนักรบปลดประจำการ ชายชาติทหารที่สูญเสียหูข้างหนึ่งครั้งปฏิบัติการอยู่ชายแดนกัมพูชา ‘ไอ้เหี้ยพวกนั้น มันตัดหูผม’ เขาหมายถึงทหารเขมร ไปที่นั่นในฐานะทหารรับจ้าง รบกับใคครก็ได้ที่ต้องการให้รบ   เขาอวดเบ่งภารกิจตนเองอย่าสาแก่ใจเล่าถึงหัวของทหารขเมรที่เขาบุกไปจัดการ ‘มึงตัดหูหู กูจะกุดหัวมึงเสีย’ ประสปการณ์ชวนแสยงขนถูกเล่าราวกับตำนานศักดิ์สิทธิ์  เขาคือนักรบ ผู้ซึ่งเสียสละหูข้างหนึ่งของตนเพื่อผดุงความยุติธรรม  ความเป็นชาติ ความถูกต้อง และคุณธรรม  เรื่องราวชวนแหนงหน่ายไหลล่วงผ่านลำคอร้อนผ่าวด้วยวิสกี้ของผม  หูข้างหนึ่งผมฟังเขา หูอีกข้างรับฟังสุนทราภรณ์เวอร์ชั่นนีน่า ซีโมน  ผมน่าจะเขียนถึงเรื่องนี้  ตัวละครตัวนี้ควรมีอยู่ ในบทภาพยนตร์ หรือในเรื่องสั้นสักเรื่องที่ผมจะเขียนในวันข้างหน้า ทหารแก่ไร้หู และคุณป้าสุนทราภรณ์ฉบับเสียทุ้ม ในบาร์แจซซ์ ที่ไม่เล่นเพลงแจ๊ซซ์ พลอตเรื่องชวนตื่นใจในกน้ากระดาษเปล่าที่ผมเป็นพระเจ้ากำหนดโยกย้ายตำแหน่งแห่งที่ของผู้คน

เห็นผมไม่ตอบคำ เขาหันไปสั่งเครื่องดิ่มเพิ่ม  เราเงียบกันปล่อยให้เพ็ญศรี พุ่มชูศรี มัณฑนา โมรากุล ลอยล่อง  เพลงนั้นไม่ได้พาเรากลับไปส่สงครามกลางเมืองขเมร  ฐานจีไอเดือดพล่านแห่งโคราช ยิ่งไม่ได้พาเราย้อนกลับไปยังยุคสมัยของน้ำมันใส่ผม การเต้นลีลาศ และเสียงไวโอลินของครูเอื้อ  เราสามคน  ผม คุณป้าและผู้หมวดทรนงหลงหลุดอยู่ท่ามกลางยุคสมัยสูญญากาศ สรรพสิ่งเหลือใช้ต่างยุคสมัยถูกจับมัดยัดในลังกระดาษปะฉลาก ‘บาร์แจซซ์ ‘ โยนมันไว้ในห้องเก็บของรกเรื้อ  เรากำลังถูกปล่อยให้เปื่อยเน่า   สักวันอาจมีสักคนคิดถึง แต่ก็ในแง่ของความเฉิ่มเชย หรือรอยบากบาดแผลประวัติศาสตร์ที่หายสนิทแล้ว

“หลังกลับจากขเมร ผมปลดประจำการตัวเอง  การรบทำให้ผมหน่าย คุณรู้ไหมทผมทำอะไรต่อ  ผมขลุกอยู่ตามบาร์ เงินที่ได้พอให้ผมเสวยสุขกับกะหรี่ราคาถูกไม่ซ้ำหน้า  ผมจมอยู่กับพวกเธอ  สาวจากอุบลราชธานี สาวจากแม่ฮ่องสอน  คุณรู้ไหม ความจนฉาบทาเป็นหน้าพวกเธอ การดิ้นรนที่สิ้นหวัง  ผมเคยไปขลุกอยู่ที่ซ่องแห่งหนึ่งในภูเก็ต  คุณน่าจะเดาออกผมไม่ได้เป็นแค่คนเที่ยว ที่นั่นไอ้พวกริยำมันจับบางคนล่ามโซ่เอาไว้  มีอยู่คืนนึง ซ่องริยำนั่นถูกมือดีจุดไฟเผา มันวอดวายเหมือนนรกเลยทีเดียวแหละคุณ กลิ่นเหม็นของเนื้อไหม้ เหี้ยเอ๋ยมันติดจมูกผมอยู่เป็นอาทิตย์เลยทีเดียว  ผมผ่าน ขเมรมาแล้ว แต่คืนนั้นทำให้ผมรู้ตัวว่านรกมันมีหน้าตายังไง  พูดก็พูดเถอะ หลังจากนั้นผมเลิกหมด ลาขาด ในคนที่ตายนั่นมีคู่ขาของผมอยู่คนนึง อยู่กับแขก ติดอยู่ในเขาวกตริยำของสลัมนั่น ผมไม่ได้ไปดูศพหล่อน บางคืนผมฝันเห็นหล่อน ปะปนอยู่ในพวกเด็กขเมรที่ตายตอนสงคราม ความฝันเหี้ยๆ แล้วคุณทำงานอะไรน่ะพ่อหนุ่ม”

“เขียนหนังสือ ผมเขียนหนังสือ”

“อา แบบอรชรใช่ไหม รู้ไหมคุณผมชอบ ร้อยป่าเป็นบ้า เสือ กลิ่นสัก ผมตามอ่านบางกอกทุกเล่ม คุณเขียนแบบไหน  เรื่องตำรวจมันที่สุด  แบบในบางกอก”

“เปล่าผมไม่ได้เขียนอะไรแบบนั้น ผมเขียนพวกเรื่องสั้น อะไรแบบนั้น”

“อ้อ” ผู้หมวดทรนงร้องเสียงดัง เขาเงียบไป ราตรีกาลเคลื่อนคล้อยผมเริ่มรู้สึกง่วงขึ้นมาจริงๆ วันคืนยาวนานผ่านไปไม่สิ้นสุด คุญป้าลงเวทีไปแล้ว เขาหันมาเปิดเพลงแทน ซีดีรวมฮิตสามสิบเพลง โบราณหลุดยุค ถูกเปิดซ้ำๆจนกลายเป็นความเหน็ดเหนื่อยไม่สิ้นสุด ราวกับบาร์แห่งนี้เพียงต้องหการหาบางสิ่งมาขับไล่ความเงียบ  ความเงียบเป็นปฏิปักษ์ กับการกินดื่ม  แม้ไม่มีใครตั้งใจฟังอะไรจริงๆก็ตาม ผมบอกลาหมวดทรนง ถามเขาว่า เขาจะพักที่นี่อีกกี่คืน

” เปล่า ผมเป็นผู้เช่ารายเดือน ว่าแต่พ่อหนุ่ม คุณว่ามันเยี่ยมขนาดไหนที่คุณกำหนดชีวิตผู้คนได้ แบบคุณ คุณเขียนนิยาย คุณให้ตัวเอกหล่อ คุณธรรมสูงส่ง ได้กับสาวงาม คุณกำหนดมัน คุณรู้สึกดีไหมที่เป็นพระเจ้า”

“ไม่รู้สิครับ ผมไม่ได้อยากกำหนดชีวตตัวละคร เวลาผมเขียน ผมพยายามคิดว่าคนทั่วไปทำอะไรกันมากกว่า มันคือกฏแห่งความสมจริง เขาเรียกว่า สัจจนิยม ผมเป็นพวกสัจจนิยม แต่ช่างนิยามมันเหอะ”

“ใช่ ช่างนิยามมันเหอะ มันโกหกตอแหลทั้งเพ คุญเขียนหนังสือ ถือดีเสกสรรคปั้นแต่งชีวิตผู้คนขึ้นอย่ามาตอแหลว่าเขียนความจริงเลย ต่อให้ชีวิตคุณเองก็เถอะ คุณจะรู้ได้ยังไงว่าคุณกำลังใช้ชีวิตจริงๆ หมายถึงเป็นของคุณไม่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้น คุณอาจเป็นแค่ตัวละครอีกตัวของคนอื่นๆ คุณว่าชีวิตผมเป็นไงล่ะ มันดูเหมือนนิยาย ใช่ มัน ‘ดูเหมือนนิยาย’ แต่ผมรู้ว่ามันจริงเหี้ยๆ ให้หูผมเป็นพยาน แต่คุณตรงนี้ นั่งฟังมัน และคิดว่าผมกำลังขี้โม้ ไอ้นักเขียนเหี้ย คุณจะเอาเรื่องผมไปเขียนใช่ไหม อย่ามาตีสองหน้าว่าคุณเขียนเรื่องจริง  กระทั่งชีวิตมึงเอง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องจริง”

นั ก เขี ย น เ หี้ ย

เขาพรั่งพรูถ้อยคำ  ผมหน้าชาเหมือนโดนตบซ้ำๆ เงียบใบ้ไร้ถ้อยคำ จู่ๆเคนนี จีเลิกเป่าแซกโซโฟน ช่องว่างกลางเพลงเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ ดูดผมลงไป  ผมไม่มีอะไรจะตอบโต้ เขาหันหลังให้ผมดื่มแล้วฟุบกับโต๊ะ เห็นรูตรงข้างขมับ ชิ้นส่วนที่หลงเหลือของหูที่หาย ผมรู้สึกขนลุกเกรียว หันหลังออกจากบาร์ทิ้งเขาไว้ในความมืดและสุรา หรือในความจริง ทิ้งตัวลงในความมืดของโรงแรมอัลฟ่าวิลล์

scene from ALPHAVILLE directed by JEAN-LUC GODARD

บันดาลใจจาก AFTER DARK โดยHARUKI MURAKAMI

1 comment

Leave a comment